วันอาทิตย์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2552

Pecha Kucha >> Love is Hear

:: เนื่องจากความ ตื่นเต้น ลืม เวลาไม่พอ และความตื่นเต้นเมื่อขึ้นเวที จึงขอลงบทความที่เตรียมไว้ว่าจะพูดในงาน Pecha Kucha ฉบับสมบูรณ์ก่อนที่จะลืม ::

ครั้งนึงผมได้มีโอกาสพูดคุยกับ อาจารย์ติ๊ก (สันติ ลอรัชวี) ผู้ริเริ่มโครงการ I am a Thai Graphic Designer ครั้งนี้ท่านเคยบอกเอาไว้ว่า "ข้อแตกต่างระหว่าง Designer กับ Artist นั้นมีแค่เพียงว่า Designer นั้นทำงานเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ในขณะที่ Artist นั้นตอบสนองความต้องการของตนเอง จึงทำให้อิสระในการทำงานนั้นมีมากกว่า" เส้นคั่นระหว่างทั้ง 2 นั้นจึงบางและคลุมเครือมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบุคคลทั่วไป

Love is Hear คือคอนเสิร์ตที่มีโจทย์น่าสนใจมาก นั่นก็คือเป็นคอนเสิร์ตเพื่อน้องๆ ที่ไม่สามารถได้ยินเสียง ดังนั้นเมื่อขาดประสาทสัมผัสที่สำคัญในการเสพดนตรีไป สิ่งที่นักออกแบบจะสามารถเข้าไปเติมเต็มได้ แน่นอนเลยก็คือทางด้าน Visual นอกจากนี้ยังเสริมในส่วนของประสาทสัมผัสอื่นๆ ที่ไม่สามารถหาได้จากคอนเสิร์ตทั่วไป เช่น รส กลิ่น หรือการสัมผัส ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่า Designer นั้นไม่ได้มีความสามารถในการทำงานจำกัดอยู่แค่เพียงทางด้านภาพเท่านั้น
คอนเสิร์ต Love is Hear ในครั้งนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือ ร่วมใจจากหลายๆ ฝ่ายทั้งจาก- NUDE communication และ นิตยสาร Happening- พี่ๆ Graphic Designer ทั้งหลาย- พี่ๆ ศิลปินรวมทั้งบุคคลอื่นๆ ที่ผมไม่ได้กล่าวถึง- และที่สำคัญคือ อาจารย์อาร์ต Try to be nice ที่อยู่เบื้องหลังคอนเสิร์ตในครั้งนั้น และงาน Pecha Kucha ในครั้งนี้

สำหรับงานออกแบบที่ทาง Practical Studio ได้ทำขึ้นมานั้นก็เป็นโปสเตอร์ที่มีฟังก์ชั่นเพิ่มเติมเข้าไปจากโปสเตอร์ทั่วไปนั่นก็คือสามารถลอกออกมาเป็นสติกเกอร์เพื่อแปะตามตัวของผู้เข้าร่วมคอนเสิร์ต โดยเป็นสติกเกอร์รูปหัวใจดวงเล็กๆ ที่เมื่อลอกออกจนหมดแผ่นแล้วก็จะเห็นที่ว่างเป็นรูปหัวใจ โดยมีแนวคิดสำคัญคือการกระจายใจซึ่งจะเห็นได้ว่าเราได้กระจายไปทั่ว ทั้งผู้ชม นักดนตรี หรือแม้แต่คนที่เดินผ่านไปมาแถวสกาล่าในวันนั้น ซึ่งแนวคิดนี้ได้ผ่านการพัฒนามาหลายขั้นตอน จากที่เริ่มต้นอยากจะทำเป็นงาน Installation ก็กลายมาเป็นโปสเตอร์ ในขณะเดียวกันโปสเตอร์ธรรมดาก็สามารถทำหน้าที่สื่อสารได้เฉพาะพื้นที่ๆ เดียว อย่างมากก็มีคนถ่ายรูปไว้หรือเอาไปบอกต่อ ซึ่งโดยธรรมชาติของคนที่มาชมคอนเสิร์ตก็คงจะไปโฟกัสอยู่ที่ตัวคอนเสิร์ตมากกว่า

โปสเตอร์ที่เราทำนั้นจึงแตกต่างเพราะนอกเหนือจากสามารถนำมาสวมใส่ได้แล้วนั้น เรายังเข้าถึงตัวผู้คน (เพราะติดไปตามตัวของเค้าเลย) ดังนั้นเมื่อคนๆ นั้นเคลื่อนที่ไปตามสถานที่ต่างๆ ก็ยังได้นำพาตัว Message ของโปสเตอร์นี้กระจายไปทำหน้าที่สื่อสารกับผู้พบเห็นหรือผู้ที่ถูก "ติด-ต่อ" ไปด้วย
อีกสิ่งหนึ่งที่อยากจะพูดถึงงานในครั้งนี้ก็คือ ในตอนแรกที่ผมได้กล่าวไว้ว่า Designer นั้นทำงานเพื่อตอบสนองลูกค้า ซึ่งในที่นี้ลูกค้าของเราก็คือน้องๆ ที่น่ารักจากโรงเรียนเศรษฐเสถียร ซึ่งก็เป็นลูกค้าที่น่ารักอย่างมาก ไม่เรียกร้องอะไรที่เกินเลย และที่สำคัญก็คือไม่เรื่องมากด้วย เราจึงสามารถทำงานได้อย่างอิสระ แต่ในขณะเดียวกันการที่น้องๆ ไม่เรียกร้องอะไรจากเรายิ่งทำให้เราต้องพยายามเข้าถึง และทำการบ้านมากกว่ากับลูกค้ารายอื่นๆ

และผลตอบแทนที่ได้แม้ว่าจะไม่ได้มาเป็นเงิน แต่ความสุขที่ได้จากการทำงานในครั้งนี้ นี่แหละคือสิ่งที่ผมเชื่อว่าเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงจิตวิญญาณให้ Designer ทุกท่านยังคงทำงานอยู่จนถึงทุกวันนี้ และทั้งหมดที่กล่าวไปนั้นก็ยิ่งทำให้เส้นคั่นระหว่าง Designer และ Artist บางและคลุมเครือเข้าไปอีก

สุดท้ายนี้ผมขอยกคำพูดที่คุณ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา แห่ง Open เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือ สารคดี ว่า"ทุกวันนี้เราถูกมายาคติของวิธีคิด การบริหารธุรกิจวัดผลความสำเร็จหรือล้มเหลวกันที่ผล กำไร-ขาดทุน เท่านั้น ซึ่งถ้าใช้วิธีคิดแบบนี้มองโลก ชีวิต และสิ่งที่ทำ เราจะแคบมากเพราะต้องตอบสนองการทำกำไรสูงสุดอย่างเดียว เราจะไม่สามารถทำอะไรที่อยากทำได้ เราต้องลืมข้อนี้ไปแล้วถามว่าเราอยากทำอะไร กำไรชีวิตที่มีค่ามากกว่าเรื่องเงินคืออะไร มิตรภาพที่ได้จากการทำงานตีมูลค่าได้มั้ย การที่เราได้หลายสิ่งในชีวิตที่อยากได้หรืออยากทำซึ่งเราคิดว่ามันมีคุณค่าสำหรับเรา นั่นเป็นเหตุผลให้เราทำในสิ่งที่ยังเชื่ออยู่"

ไม่มีความคิดเห็น: